สำรวจประวัติศาสตร์เปอร์เซีย จักวรรดิที่มีเรื่องราวมากมาย | ฉบับรวบรัด


จักวรรดิเปอร์เซีย (Persian Empire) คือหนึ่งในตำนานแห่งความยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกยุคโบราณ ปกครองกันมาอย่างต่อเนื่องในบริเวณที่ราบสูงดินแดนปัจจุบันเรียกว่าอิหร่าน เป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาอินโด-ยูโรเปียน มีถิ่นฐานเดิมบริเวณทางเหนือของทะเลดำ เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรอันทรงอำนาจมาช้านาน มีบทบาทโดยเป็นศูนย์กลางของความเจริญรุ่งเรืองของโลกยุคโบราณ ย้อนไปเมื่อราว 2000 ปีก่อนคริสตกาล ที่นี่เป็นถิ่นฐานของ 2 ชนชาติสำคัญ ได้แก่ ชาวมีดส์ (Medes) ซึ่งครอบครองพื้นที่ทางเหนือ และชาวเปอร์เซียที่ปกครองดินแดนทางใต้ ทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่มานานนับศตวรรษ

อาณาจักรเปอร์เซียเริ่มต้นเมื่อใด

กระทั่งในปี 550 ก่อนคริสตกาล ไซรัส ที่ 2 (Cyrus II) ผู้เป็นกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย ได้โค่นล้มอาณาจักรมีดส์ (Medes) ลงได้สำเร็จ จึงได้สถาปนาจักวรรดิเปอร์เซีย (Persian Empire) และราชวงศ์อาเคเมนิด (Achaemenid Dynasty) ขึ้นเป็นผู้ปกครองจักรวรรดิเปอร์เซีย ไซรัสจึงได้รับสมญานามว่า "ไซรัสมหาราช" (Cyrus the Great) เพื่อเป็นเกียรติแด่ความยิ่งใหญ่ของพระองค์


ที่มา: National Geographic

จักรวรรดิเปอร์เซียเจริญรุ่งเรืองถึงจุดสูงสุดในรัชสมัยของดาริอุสมหาราช หรือดาริอุสที่ 1 (Darius I) ผู้นำประเทศบุกรุกและผนวกรวมแว่นแคว้นต่างๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ขยายขอบเขตการปกครองให้กว้างใหญ่ไพศาลกว่าที่เคยเป็นมา หนึ่งในสงครามสำคัญยุคดาริอุสคือการเปิดศึกกับนครรัฐกรีก ซึ่งยืดเยื้อยาวนานกว่าร้อยปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของเซอร์ซิสที่ 1 (Xerxes I : 519-465 ปีก่อนคริสตกาล) ที่เปอร์เซียบุกโจมตีนครรัฐสปาร์ตา (Sparta) นำไปสู่ยุทธการเทอร์มอพิลี (Battle of Thermopylae) อันโด่งดัง ซึ่งลีโอไนดัส (Leonidas) ผู้นำสปาร์ตาเสียชีวิตลงในการต่อสู้ครั้งนั้น

นอกเหนือจากการทำสงคราม ดาริอุสมหาราชยังได้ปฏิรูปการบริหารประเทศในหลากหลายด้าน พระองค์แบ่งอาณาเขตออกเป็นหน่วยการปกครองย่อยที่เรียกว่า "แซแทรป" (Satrap) โดยมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ดูแลและรายงานตรงต่อกษัตริย์ ระบบถนนเชื่อมต่อระหว่างแซแทรปก็ถูกสร้างขึ้นเป็นระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร โดยมีนครเปอร์เซโปลิส (Persepolis) เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของจักวรรดิเปอร์เซีย (Persian Empire) ที่ซึ่งพระราชวังอันโอ่อ่าและสถาปัตยกรรมต่างๆ แสดงถึงพลังอำนาจและความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิเปอร์เซียในยุคนั้น


เมืองโบราณ Persepolis มรดกโลกยูเนสโก ตั้งอยู่ในเมือง Shiraz ประเทศอิหร่าน

ศาสนาและความเชื่อในอาณาจักรเปอร์เซีย

ชาวเปอร์เซียนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) เป็นศาสนาที่มีกำหนดในสังคมชาวมีดส์ (Medes) ซึ่งมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาไฟและดวงอาทิตย์ โดยจะเคารพบูชาเทพเจ้า 2 องค์ คือ พระเจ้าอหุระ มาซดะ (Ahura Mazda) เทพแห่งความดี มีแสงสว่างเป็นสัญลักษณ์และอหริมัน (Ahriman) เทพแห่งความชั่ว มีความมืดเป็นสัญลักษณ์ ศาสนานี้เกิดในเปอร์เซีย หรือเรียกว่าศาสนาบูชาไฟ เพราะผู้คนที่นับถือศาสนานี้จะจุดไฟตลอดเวลาไม่ให้ดับ  หรือที่เรียกกันว่าศาสนาบูชาไฟ มิได้หมายความว่าศาสนา โซโรอัสเตอร์เห็นว่าไฟศักดิ์สิทธิ์ เพียงแต่ใช้ไฟในการเป็นสัญลักษณ์แห่งความสว่าง ความสะอาด ความรู้ และความดีเพียงเท่านั้น กล่าวคือมีไฟในที่ใดย่อมกำจัดความมืดมิดและให้ความสว่างในที่นั้น มีไฟเผาผลาญสิ่งต่างๆในที่ใด ย่อมทำลายสิ่งสกปรกให้หมดไป เหลืออยู่แต่ความสะอาดในที่นั้นนั่นเอง

การล่มสลายของอาณาจักรเปอร์เซีย

หลังจากสิ้นสุดรัชสมัยของเซอร์ซิสที่ 1 จักรวรรดิเปอร์เซียก็ค่อยๆ อ่อนแอลง ดินแดนและอำนาจการปกครองเสื่อมถอยลงเรื่อยมา จนกระทั่งราว 330 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยของดาริอุสที่ 3 (Darius III) ระหว่างปี 336-330 ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) นักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิมาซิโดเนียบุกโค่นล้มจักรวรรดิเปอร์เซียลงได้ในที่สุด และสั่งทำลายนครหลวงเปอร์เซโปลิส (Persepolis) เป็นบทสรุปของหนึ่งในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคโบราณ ที่ครองความเป็นใหญ่เหนือดินแดนแห่งนี้มานานนับพันปี